โรคระบาดที่พบมากในไก่ชน
1.โรคนิวคาสเซิล
ปกติจะแสดงอาการป่วยหลังได้รับเชื้อเป็นเวลา 3-6 วันโดยแสดงอาการหายใจลำบากมีเสียงดังในเวลาหายใจ มีน้ำมูกไหล ท้องเสีย กระตุก คอบิด ขาและปีกเป็นอัมพาต ใช้การไม่ได้ บางรายอุจจาระร่วงเป็นสีเขียว แม่ไก่ที่กำลังไข่จะหยุดไข่ทันที และมักตายภายใน 1 อาทิตย์ ไก่ที่หายจากโรคนี้มักจะพิการ คอบิด ขาและปีกใช้งานไม่ได้ดี และจะเป็นตัวอมโรคต่อไป โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การติดต่อของโรคเป็นไปรวดเร็วมากดังนี้ โดยจะติดต่อกันโดยตรงในไก่ป่วยที่อยู่ใกล้ชิดกัน กินน้ำ และอาหารร่วมกัน ยังติดไปกับอุปกรณ์การเลี้ยงไก่ คนและสัตว์เลี้ยง เช่นสุนัข แมว ตลอดจนนก หนู และแมลงวันก็ยังสามารถเป็นตัวพาหะนำโรคได้ จากการชำแหละไก่ที่ป่วยและตายด้วยโรคนี้ ซึ่งในซากไก่จะมีเชื้ออยู่ในปริมาณสูงมากพอที่จะแพร่ระบาดไปยังไก่ตัวอื่นๆ ในเล้าและไก่บริเวณใกล้เคียงได้ วิธีการป้องกันสามารถทำได้โดยการใช้วัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิลซึ่งมี 2 ชนิด ด้วยกันคือ ชนิดหยอดจมูกและชนิดแทงปีกซึ่งใช้กับไก่อายุ 3 เดือนขึ้นไป
2.โรคฝีดาษไก่
เป็นโรคระบาดที่พบได้มากในลูกไก่และไก่รุ่น นอกจากนี้นกพิราบก็เป็นโรคนี้ได้ ติดต่อได้รวดเร็วมาก มักจะทำให้ไก่ตายเป็นจำนวนมาก ตัวที่ไม่ตายจะแคระแกรนไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร อาการที่เกิดขึ้นหลังจากที่ไก่ได้รับเชื้อโรคแล้วประมาณ 1 อาทิตย์จะแสดงอาการ ซึ่งอาจพบได้ 2 ลักษณะคือ
1.เกิดตุ่มฝีดาษลักษณะคล้ายหูดเกิดขึ้นตามผิวหนังบริเวณที่ไม่มีขน เช่น บริเวณหน้า หงอน เหนียง หนังตา และขา ระยะแรกเป็นเม็ดตุ่มเล็กๆ ต่อมาจะค่อยๆใหญ่ขึ้น ที่หัวของฝีเป็นแผลมีสะเก็ดสีน้ำตาลปิดอยู่ ต่อมาจะแห้งและลอกหลุดออกไป
2.ตุ่มฝีดาษ ชนิดที่เป็นแผลเกิดขึ้นในลำคอ ทำให้กินอาหารลำบากน้ำลายไหลยืด มีกลิ่นเหม็น เป็นมากๆจะทำให้ไก่ตายได้
สาเหตุและการติดต่อของโรคฝีดาษไก่จะเกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อได้หลายทางดังนี้ ทางบาดแผล เช่น แผลที่เกิดจากถูกของมีคม แผลจากการจิกตีกันในฝูง และยุงเป็นพาหะที่สำคัญในการนำเชื้อโรคระบาดในไก่ตัวอื่นๆ โดยยุงกินเลือดสัตว์ป่วยในระยะที่มีเชื้อโรคอยู่ในกระแสเลือด เชื้อโรคก็จะเข้าไปอยู่ในตัวยุง เมื่อยุงไปกัดดูดเลือดไก่อีกตัวหนึ่งก็จะปล่อยเชื้อโรคเข้าไปทำให้ไก่เป็นโรค
การป้องกันและรักษา
1.ในการเลี้ยงลูกไก่เล็ก ควรระวังอย่าให้ยุงกัด
2.ใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนทาตามตุ่มฝีที่เกิดขึ้นเพื่อลดการอักเสบของฝีและให้ยาปฏิชีวนะล ะลายน้ำให้กินติดต่อกัน 3-4 วัน
การทำวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษไก่ ใช้เข็มแทงปีก โดยแทง 1 ครั้งทำกับไก่อายุ 1 อาทิตย์ ขึ้นไปไก่จะมีภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษได้นาน 1 ปี
3.โรคอหิวาห์ไก่
เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่พบได้ในไก่ เป็ด ห่าน และนกอีกหลายชนิดระบาดได้ทุกฤดูกาล
สาเหตุและการติดต่อของโรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนี่งติดต่อได้หลายทาง เช่น โดยกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคเข้าไป และติดต่อกันต่อไปในสัตว์ป่วยที่อยู่ใกล้ชิดกัน เชื้อโรคติดไปกับอุปกรณ์การเลี้ยง คน และสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ตลอดจน นก หนู ก็เป็นตัวน้ำโรคได้ ไก่ที่เลี้ยงใกล้แหล่งน้ำ ซากไก่ที่เป็นโรคและสิ่งขับถ่ายที่ตกลงในน้ำนั้น เชื้อโรคจะแพร่กระจายไปสู่ไก่ ตัวอื่นๆในเล้าและไก่บริเวณใกล้เคียงได้ อาการที่พบส่วนมากถ้าเป็นอย่างร้ายแรงไก่อาจตาย โดยไม่แสดงอาการให้เห็น ถ้าเป็นอย่างอ่อนไก่อาจจะป่วยเป็นแรมเดือน มีอาการหงอยซึม เบื่ออาหารกระหายน้ำจัด ท้องร่วง อุจจาระมีสีเหลืองหรือเขียง หงอนและเหนียงมีมีคล้ำกว่าปกติ ในรายที่เป็นอย่างเรื้อรังเหนียงจะบวม บางตัวจะบวมที่ข้อขาทำให้เดินไม่สะดวก
การป้องกันและรักษา
1 .การสุขาภิบาลสำคัญมากในการป้องกันโรค ต้องระวังความสะอาดภายในเล้าไก่ การสร้างโรงเรือนต้องโปร่ง เย็นสบาย ไม่อบอ้าว ไม่สกปรก
2. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาห์ไม่เมื่อไก่อายุ 1-3 เดือน ฉีดวัคซีนแทงเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนัง จำนวน 1 ซี.ซี ไก่จะมีภูมิคุ้มโรคได้นาน 3 เดือน หรือไก่อายุ 3 เดือนขึ้นไปฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนังเช่นกัน แต่ใช้จำนวน 2 ซี.ซี ไก่ก็จะมีภูมิคุ้มโรคได้นาน 3 เดือน และต้องทำซ้ำทุก 3 เดือน
3. การรักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาซัลฟาบางตัวละลายน้ำให้ไก่กินติดต่อกัน 2-3 วัน และควรหารือกับสัตวแพทย์ในท้องที่
4. โรคหลอดลมอักเสบ
เป็นโรคติดต่อทางระบบหายใจเกิดได้กับไก่ทุกอายุ แต่ในลูกไก่เล็กจะติดโรคนี้ได้
ง่ายกว่าและตายมากกว่าในไก่ใหญ่ อาการที่พบไก่จะแสดงอาการคล้ายเป็นหวัด โดยเฉพาะในลูกไก่จะมีอาการหายใจลำบาก อ้าปากเวลาที่หายใจและมีเสียงดัง ครืด คราด ตาแฉะ หงอยซึม ลูกไก่มักตายเพราะหายใจไม่ออกเนื่องจากจะมีน้ำเมือกอุดในหลอดลม ส่วยในแม่ไก่จะตายน้อยกว่า แต่มีผลกระทบต่อการไข่ ทำให้ไข่ลดลงอย่างรวดเร็วคุณภาพของไข่เลวลง เช่น เปลือกไข่บาง นิ่ม ขรุขระ ไข่ขาวเหลวเป็นน้ำฟักออกเป็นตัวน้อย สาเหตุและการติดต่อเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง การแพร่ระบาดรวดเร็วมาก ไก่จะได้รับเชื้อโรคโดยการหายใจเอาเชื้อโรคที่ปลิวฟุ้งอยู่ในอากาศ หรือการกินเอาเชื้อโรคที่ปนอยู่ในอาหารหรือน้ำเข้าไป
การป้องกัน
1. อย่าเลี้ยงลูกไก่ต่างรุ่นปนเปกัน ควรเลี้ยงไก่เล็กให้อยู่ห่างจากไก่ใหญ่
2. หมั่นดูแลความสะอาดเล้าไก่และภาชนะต่างๆ ที่ใช้ในเล้าไก่และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรค
3. อาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ต้องเป็นอาหารที่มีคุณภาพดี อาหารที่ไก่กินไม่หมดให้ทิ้ง อย่าปล่อยให้เน่าเสียควรกวาดล้างให้หมด
4. โรคนี้ไม่มียารักษาโรคโดยตรง วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ การให้วัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้า โดยใช้วัคซีนหยอดตาหรือหยอดจมูกลูกไก่เมื่ออายุได้ 2 อาทิตย์ และหยอดซ้ำทุกๆ 3 เดือน